9 นาฬิกาข้อมือสไตล์ "วินเทจ" สำหรับคนรักนาฬิกา

Last updated: 20 ก.ย. 2562  |  14127 จำนวนผู้เข้าชม  | 

9 นาฬิกาข้อมือสไตล์ "วินเทจ" สำหรับคนรักนาฬิกา

          หากพูดถึงนาฬิกาข้อมือเก่า ๆ แล้ว อาจไม่ค่อยถูกใจผู้ชายสมัยนี้เท่าไรนัก เพราะส่วนใหญ่แล้วนาฬิการุ่นเก่าจะมีราคาสูงกว่านาฬิกาข้อมือในปัจจุบัน แถมฟังก์ชั่นและงานออกแบบยังไม่เท่เหมือนสมัยนี้ แต่ถ้ามองในมุมนักสะสมและคนรักนาฬิกาข้อมือแล้ว นาฬิกาเก่าเก็บพวกนี้มีคุณค่ามาก อีกทั้งบางเรือนยังมีประวัติศาสตร์ที่น่าทึ่งมากอีกด้วย วันนี้เราจึงนำนาฬิกาข้อมือเก่าสไตล์วินเทจทั้ง 9 แบรนด์ดังจากเว็บไซต์ D'Marge มาแนะนำให้หนุ่ม ๆ ได้รู้จักกันครับ

 

โอเมก้า (Omega)

 

ราคาประมาณ 2,000 – 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ (63,000 – 95,000 บาท)



          บริษัท โอเมก้า ได้เปิดตัวนาฬิกาข้อมือโครโนกราฟรุ่นแรกในปี 1957 นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาเมื่อปี 1848 โดยนาฬิกาข้อมือรุ่นนี้ใช้ชื่อว่าโอเมก้า สปีดสเตอร์ (Omega Speedster) ซึ่งถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้ในการแข่งกีฬาและการแข่งรถ เนื่องจากมันสามารถจับเวลาได้แม่นยำนั่นเอง และประวัติที่น่าสนใจของนาฬิกาข้อมือรุ่นนี้ก็คือ นีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศชื่อดัง ได้สวมมันขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์ครั้งแรก ภายใต้ปฏิบัติการชื่อ อพอลโล 11 ในปี 1969 นั่นเอง

 

ฮอยเออร์ (Heuer)

ราคาประมาณ  2,000 – 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ (63,000 – 79,000 บาท)

             
          ฮอยเออร์ หรือที่เราเรียกันคุ้นปากว่า แท็ก ฮอยเออร์ (Tag Heuer) ได้ผลิตนาฬิกาข้อมือรุ่น ฮอยเออร์ ออตาเวีย (Heuer Autavia) ตั้งแต่ปี 1933 เรื่อยมาจนถึงปี 1958 แล้วได้เลิกผลิตไป จนกระทั่งนาฬิกาข้อมือรุ่นนี้ได้ถูกนำมาปรับปรุงใหม่ในปี 1962 แต่ก็ผลิตถึงแค่ปี 1986 เท่านั้น ทั้งนี้คำว่า Autavia ที่นำมาเป็นชื่อรุ่นมาจากคำว่า Automobile และ Aviation เพราะว่ามันถูกออกแบบมาเพื่อใช้ได้ทั้งยานพาหนะทางบกและทางการบิน สิ่งทำให้ให้เจ้านาฬิกาข้อมือรุ่นนี้เป็นที่น่าสะสมขึ้นไปอีก เพราะว่านับตั้งแต่นั้นมา ฮอยเออร์ ก็ไม่เคยผลิตนาฬิกาข้อมือที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับรุ่นนี้เลย

 

ไบร์ทลิ่ง (Breitling)

ราคาประมาณ 2,000 – 2,500 ดอลลาร์สหรัฐ (63,000 – 79,000 บาท)

             
          นาฬิกาข้อมือรุ่นที่โด่งดังที่สุดของ ไบร์ทลิง คือรุ่น เนวิไทเมอร์ (Navitimer) ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 1952 ด้วยเทคโนโลยีการนำทางด้วยระบบคอมพิวเตอร์ตัวแรกของโลก ความสามารถของมันคือคำนวณแผนการบินได้อย่างแม่นยำ ทั้งนี้นาฬิกาข้อมือเนวิไทเมอร์ ไม่ได้เป็นแค่นักสะสมแต่ยังรวมถึงแฟนภาพยนตร์สุดคลาสสิกอย่างเรื่อง 007 เพราะ เซอร์ ฌอน คอนเนอร์รี่ ผู้รับบท เจมส์ บอนด์นั้นได้สวมใส่นาฬิกาข้อมือรุ่นเนวิไทเมอร์ 806 ในภาค Thunderball เมื่อปี 1965 อีกด้วย

 

ทิวดอร์ (Tudor)

ราคาประมาณ 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ (158,000 บาท)
          


          ฮันส์ วิลสดอฟ ผู้ก่อตั้งนาฬิกาข้อมือโรเล็กซ์ (Rolex) ได้บอกไว้ เขาได้สร้างนาฬิกาข้อมืออีกแบรนด์ขึ้นในปี1950 มาเพื่อให้คนทั่วไปสามารถซื้อได้ ซึ่งก็คือ ทิวดอร์ นั่นเอง ความน่าสนใจของนาฬิกาข้อมือแบรนด์นี้คือ ตั้งแต่ช่วงกลางยุค 1990 เป็นตั้นมา ได้ใช้มงกุฎและตัวเรือนของโรเล็กซ์ รวมถึงรุ่นก่อนหน้านั้นที่ผลิตออกมาก่อนปี 1971 ได้ใช้สายของโรเล็กซ์ทั้งหมด โดยรุ่นที่น่าเก็บสะสมของยี่ห้อนี้ก็คือรุ่น ทิวดอร์ ซับมารีเนอร์ (Tudor Submariner) เพราะมันขับเคลื่อนด้วยอัญมณี 17 เม็ด มาพร้อมกับตัวเครื่อง Valjoux 722 ในระบบออโตเมติกนั่นเอง

 

ลอนจินส์ (Longines)

ราคาประมาณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ (32,000 บาท)


             
          ลอนจินส์ มีชื่อเสียงอย่างมากในฐานะผู้ผลิตนาฬิกาข้อมือสำหรับนักบินหรือที่เรียกว่า เอวิเอเตอร์ส (Aviators) นั่นเอง เพราะว่านับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทขึ้นในปี 1832 เป็นต้นมา จะผลิตแต่นาฬิกาข้อมือสำหรับนักบินเท่านั้น แม้ว่ากระแสนิยมในตอนนั้นจะเอนไปทางนาฬิกาข้อมือแบบสปอร์ตและโครโนกราฟมากกว่าก็ตาม

 

พาเนราย (Panerai)

 

         นาฬิกาข้อมือของ พาเนราย นับว่าเป็นนาฬิกาข้อมือที่หาได้ยากมาก เนื่องจากมันถูกผลิตขึ้นมาแค่ 300 เรือนเท่านั้นตั้งแต่ปี 1938 ถึงปี 1993 เพื่อมอบให้กับกองทัพเรืออิตาลี อย่างไรก็ตาม ในปี 1993 ได้ฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ แต่ก็ยังผลิตในจำนวนที่ยังน้อยอยู่คือแค่ 1,000 เรือนเท่านั้น นับจากปี 1993 จนถึงปี 2000 และด้วยความที่มันหายาก เลยทำให้นาฬิกาข้อมือพาเนรายเป็นที่ต้องการของคนรักนาฬิกาข้อมือเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ทางเว็บไซต์ D'Marge ไม่ได้บอกราคาจำหน่ายให้ทราบแต่อย่างใด

 

เอ็นนิการ์ (Enicar)

ราคาประมาณ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ (64,000 บาท)


             
          บริษัท เอ็นนิการ์ ได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1913 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และยังเป็นบริษัทแรกของโลกที่ใช้แร่เรเดียมมาเป็นส่วนประกอบในการผลิตนาฬิกาข้อมือ โดยแร่ตัวนี้ทำให้ผู้สวมใส่สามารถดูเวลาในที่มืดได้ และจากจุดเด่นตรงนี้ของมันทำให้นาฬิกาข้อมือเอ็นนิการ์ประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้นาฬิกาข้อมือที่มีประวัติที่น่าสนใจของแบรนด์นี้คือรุ่น เอ็นนิการ์ เชอร์ปา (Enicar Sherpa) ที่ถูกใช้ในการสำรวจเทือกเขาเอเวอเรสต์ในปี 1956 เพราะเจ้านาฬิกาข้อมือรุ่นนี้บอกเวลาได้แม่นยำมากเมื่ออยู่บนที่สูงเหนือระดับน้ำทะเลนั่นเอง

 

อีเทอร์นา (Eterna)

ราคาประมาณ 2,000 ดอลลาร์สหรัฐ (64,000 บาท)


             
          นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัท อีเทอร์นา ขึ้นมาเมื่อปี 1856 ทางบริษัทได้ผลิตนวัตกรรมด้านนาฬิกาข้อมือหลายอย่างเช่น การขับเคลื่อนด้วยระบบที่ชื่อว่า Baguette ไปจนถึงเทคโนโลยีไขลานด้วยเองในปี 1948 และนาฬิกาข้อมือรุ่นที่คุ้มค่าแก่การสะสมก็คือ อีเทอร์นา คอนติคิ (Eterna KonTiki) โดยชื่อรุ่นนี้ได้มาจากชื่อของแพที่นักสำรวจชาวนอร์เวย์ได้ใช้ล่องสำรวจเส้นทางผ่านทะเลแปซิฟิก จากแอฟริกาใต้ไปจนถึงเกาะโพลีนิเซีย และแน่นอนว่านักสำรวจผู้นั้นก็ได้สวมนาฬิกาข้อมือของ อีเทอร์นา อีกด้วย

 

เจเกอร์-เลอคัลเจอร์ (Jaeger-LeCoultre)

าคาประมาณ 2,500 – 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ (79,000 – 95,000 บาท)


             
          ในปี 1956 บริษัท เจเกอร์-เลอคัลเจอร์ ได้เขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ โดยการสร้างนาฬิกาข้อมือระบบออโตเมติก ที่มาพร้อมกับฟังก์ชั่นตั้งเวลาปลุกได้ โดยนาฬิกาข้อมือรุ่นนี้ถูกตั้งชื่อว่า เมมโมวอกซ์ (Memovox) ซึ่งมาจากคำว่า Voice of Memory นั่นเอง และถึงแม้ว่าในระหว่างปี 2000 มันจะถูกนำกลับมาผลิตใหม่ภายใต้ชื่อ มาสเตอร์ เมมโมว็อกซ์ (Master Memovox) แต่นักสะสมนาฬิกาข้อมือทั้งหลายต่างโหยหารุ่นแรก ๆ เท่านั้น ถึงแม้ว่าจะเลิกผลิตมาเป็นเวลากว่า 4 ทศวรรษแล้วก็ตาม

 


          ทั้งนี้ นาฬิกาข้อมือ 9 แบรนด์ที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแล้วแต่มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ต่างกัน แต่ล้วนน่าสนใจทั้งสิ้น โดยเฉพาะคนรักนาฬิกาข้อมือและนักสะสมทั้งหลาย คงจะรู้สึกดีไม่น้อยหากได้เป็นเจ้าของสักเรือนหนึ่ง

 

 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก dmarge

 

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้